COLUMNIST

กำจัดจุดอ่อน "พลังงานไทย"
POSTED ON -


หากพูดถึงคำว่า "พลังงาน" ในที่นี้ให้หมายถึงพลังงานหลัก อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ท่านอาจจะทราบอยู่แล้วว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานถึง 13% ของ GDP นั่นหมายถึงนำเข้า 57% ของปริมาณที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และแน่นอนที่สุดว่าเกือบทั้งหมดที่นำเข้าคือ "น้ำมัน" ซึ่งนำเข้าถึง 85% ของปริมาณพลังงานที่นำเข้า และส่วนใหญ่ก็นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง โชคดีที่เรายังมีก๊าซไว้ใช้เองเป็นส่วนใหญ่ จึงมีการนำเข้าเพียง 20% แต่ที่น่ากลัวก็คือ LPG เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วเราส่งออกเกือบพันตัน แต่ตอนนี้ไทยเราต้องนำเข้า LPG เกือบ 2,000 ตัน แล้วจุดอ่อนอยู่ตรงไหน? การอุดหนุนราคา? นโยบาย? หรืออะไร?

 

"ไฟฟ้า" สิ่งที่ทุกรัฐบาลและนักวิชาการทุกคนมักจะพูดถึง และเป็นจุดอ่อนของพลังงานไทย อีกข้อหนึ่งก็คือการที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศถึง 70% แต่แนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมก็ยังไม่ปรากฏ เนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ไม่ครบวาระ และมีปัญหาการเมืองที่ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า เรามาศึกษาดูว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลกแล้วเขาใช้เชื้อเพลิงประเภทไหนผลิตไฟฟ้าบ้าง

 

 

น้ำมัน : ยังมีเรื่องที่น่าดีใจก็คือ ไทยยังสามารถผลิตใช้เองได้ถึง 15% (จากแหล่งใดบ้าง ต้องลองสอบถาม ปตท. ดู) ส่วนเรื่องที่น่าเสียใจก็คือ ไทยต้องนำเข้าน้ำมันถึง 85% ในจำนวนนำเข้าทั้งหมดนี้ 66% ใช้ในภาคขนส่ง และนี่คืออีกจุดอ่อนหนึ่งของพลังงานไทย ใครช่วยคิดหน่อยว่าต้องทำอย่างไร? ใช้อำนาจพิเศษช่วยได้ไหม? หรือเกินเยียวยา

 

ก๊าซ : ก๊าซธรรมชาติของไทยถูกนำออกใช้อย่างต่อเนื่อง จากปริมาณก๊าซที่มีอยู่หากไม่มีการสำรวจเพิ่มจะมีใช้ได้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น ปัจจุบันไทยเรามีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 20% ซึ่ง 16% มาจากเมียนมาร์ และที่อื่นๆ อีก 4% จุดอ่อนของก๊าซธรรมชาติคือนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 59% หากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหมดลง นั่นหมายความว่า อัตราค่าไฟฟ้าไทยอาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีกตามราคาก๊าซนำเข้าหรือตามเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทางที่ดีช่วยกันประหยัดดีกว่า

 

ส่วนก๊าซ LPG ซึ่งต้องนำเข้าส่วนหนึ่งและผลิตได้เองส่วนหนึ่ง จึงควรมีการตั้งราคาจำหน่ายให้ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน เพื่อให้ LPG ไม่ถูกลักลอบไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน และอีกประการหนึ่งคือ LPG เป็นปิโตรเคมีที่สามารถนำมาผลิตสินค้าเครื่องใช้ได้มากมาย ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าการใช้เป็นเชื้อเพลิง

 

ถ่านหิน : เป็นเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) ชนิดเดียวที่ราคาถูก ขนส่งง่าย และยังมีปริมาณสำรองไว้ใช้ได้ยาวนานที่สุด โดยทางยุโรปและยูเรเซียมีปริมาณสำรองไว้ใช้ในอนาคตมากกว่า 100 ปี สำหรับประเทศไทนั้นคนไทยยังไม่ค่อยยอมรับการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากในอดีตอาจใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ถ่านหินยังมีระดับคุณภาพที่แตกต่างกันถึง 5 เกรด จึงมีผู้เสนอให้โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมด้วยประมาณ 10% เหมือนทางยุโรป ซึ่งอาจช่วยให้ลดมลพิษในอากาศลง และที่สำคัญเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้อยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้ามากขึ้น

 

 

สำหรับพลังงานทดแทนในประเทศไทยก็ล้มลุกคลุกคลานไปตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล จนกว่าภาคเอกชนผู้ลงทุนผลิตแทนภาครัฐจะได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นกับเขาบ้าง ขอฝากไว้กับท่าน สปช.พลังงานทุกท่านว่าประเทศไทยคงต้องชัดเจนกับพลังงานทดแทนประเภทไฟฟ้า จะคำนวณปริมาณหรือเป้าหมายการส่งเสริมจากปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งหรือปริมาณที่พึ่งพาได้ (คำนวณจาก Plant Factor) หรือจะคิดคำนวณจากปริมาณการผลิตได้จริงเข้าสายส่ง ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่พึ่งพาได้อีกมากพอสมควร (ท่านที่อ่านแล้วไม่เข้าใจสามารถอีเมลมาสอบถามได้)

 

ท่านพบกับจุดอ่อนพลังงานของประเทศไทยแล้ว คราวนี้มาพูดถึงจุดอ่อนของพลังงานโลกบ้าง อย่าตกใจถ้าจะบอกว่าพลังงานโลกใกล้หมดแล้ว อย่าคิดว่ามีฐานะดีแล้วจะซื้อได้ตลอดไป ทางที่ดีช่วยกันประหยัดดีกว่า การประหยัดไฟฟ้า 1 หน่วย (kWh) มีต้นทุนไม่ถึง 1 บาท แต่การผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย (kWh) ต้องลงทุนกว่า 4-8 บาท ช่วยกันประหยัดไฟจะได้มีไว้ใช้นานๆ

 

คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ดูแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ ถึงแม้ว่าพลังงานแต่ละชนิดจะมีการค้นพบเพิ่มขึ้นปีละ 2-3% แต่ก็น้อยกว่าปริมาณที่มนุษย์ใช้เพิ่มขึ้น จุดอ่อนของพลังงานไทยและพลังงานโลกเป็นความรับผิดชอบของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ในฐานะคนไทยคนหนึ่งจึงขอวิงวอนว่าหันหน้าเข้าหากัน แล้วช่วยกันกำจัดจุดอ่อนของพลังงาน ซึ่งยังมีอีกมากมาย เพื่อลูกเพื่อหลานของเราเอง